ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ (SPA) เกิดขึ้นและเติบโตใน จ.ภูเก็ต และพื้นที่ภาคใต้ ควบคู่กับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท โดยมีรูปแบบของบริการที่คล้ายคลึงกันตามเทรนด์ความนิยมด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยว อันเป็นการขับเคลื่อนมาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพให้มีจุดขายและได้รับการยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น นักวิจัยจาก ม.ราชภัฏภูเก็ต นำโดย ดร.พุทธพร อักษรไพโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทรัพยากรเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้จัดทำโครงการวิจัย “แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริการเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่ระดับสากล” ภายใต้แผนงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล” แผนการวิจัยและนวัตกรรม (Spearhead) กลุ่มบริการมูลค่าสูง Wellness Tourism ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ตลอดจนสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวม 15 หน่วยงาน


คอลัมน์ PKRU EXPERT ขอนำผู้อ่านพูดคุยกับ ดร.พุทธพร อักษรไพโรจน์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยฯ ที่จะบอกเล่าถึงผลลัพธ์และแนวทางที่ได้จากการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพิ่มความสามารถในระดับสากล ก้าวสู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภูมิภาค
ดร.พุทธพร กล่าวถึงผลการวิจัยพบว่า “การดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีเอกลักษณ์ท้องถิ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมบริการ ได้แก่ 1.มาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือ ECO SPA / 2.ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ระบบ Spa Business Information Management System ที่ช่วยรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ เพื่อให้ธุรกิจสปาสามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนและดำเนินการทางการตลาดของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สามารถให้บริการได้ตรงกับความต้องการ และตอบสนองต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันมีธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมากที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลแต่ยังไม่พบความแตกต่างของบริการที่ชัดเจน ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากกว่าการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นการสร้างความแตกต่างให้กับสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้โดยนำเอาเอกลักษณ์ท้องถิ่น และการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานกับบริการสปาที่มีอยู่ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพได้ นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดที่กว้างและหลากหลายขึ้น


อย่างไรก็ตามธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และภาคใต้ สามารถนำผลการศึกษา / วิจัย ไปเป็นข้อมูลหรือนำไปปรับใช้ เพื่อประกอบการวางแผนเชิงนโยบายทางการตลาด และเพื่อการลดใช้พลังงาน ลดต้นทุน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม การปรับใช้จากแนวทางการจัดการขยะ หรือแนวทาง 3R (Reuse การใช้ซ้ำ Reduce การลดการใช้ Recycle การรีไซเคิล) เช่น การใช้ผ้าและใช้น้ำให้เกิดความคุ้มค่า หรือการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะจากทรัพยากรท้องถิ่น เช่น กะลามะพร้าว การใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น อย่างสับปะรดภูเก็ต มาเป็นส่วนประกอบใน Spa Treatment หรือการนำขนมพื้นถิ่น เช่น เต้าส้อ เป็นอาหารว่างบริการลูกค้า อีกทั้งการนำวิถีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช่วยเพิ่มมูลค่าในกระบวนการการให้บริการ เช่น ผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติกที่นำมาตกแต่งทั้งชุดพนักงาน ปรับใช้เป็นผ้าคลุมเตียงนวด ผ้าคลุมเบาะรองนั่ง ผ้าคลุมโต๊ะ โดยเฉพาะการนำผ้าถุงมาเป็นผ้าคลุมหรือนุ่งอาบน้ำ ที่ผลการศึกษาพบว่า สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และสนใจซื้อกลับไป จนสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพได้เพิ่มสูงขึ้น”


เจ้าของผลงานคู่มือ ECO SPA เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแผนการนำงานวิจัยมาบูรณาการร่วมกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ว่า “ได้มีการนำฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้ มาร่วมพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และต่อยอดศึกษาโครงการวิจัยย่อยที่จะสามารถลงลึกถึงบริการท่องเที่ยวสุขภาพในระดับชุมชนท้องถิ่น ในเบื้องต้นได้มีการร่วมกับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีการวิจัยและการเรียนการสอนด้านการนวดสปาเพื่อสุขภาพ รวมถึงทีมนักวิจัยของคณะเทคโนโลยีการเกษตรในการศึกษาและหาช่องทางนำพืชเกษตรพื้นถิ่นป้อนให้กับผู้ประกอบการสปาเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตกรได้อีกทาง


การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ของบุคลากร ม.ราชภัฏภูเก็ต นับเป็นการดำเนินงานบริการวิชาการเพื่อท้องถิ่น ในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งตอบโจทย์การให้บริการเชิงพื้นที่ทั้งในเขต จ.ภูเก็ต และภาคใต้ ผลการศึกษาวิจัยสามารถนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติ รวมถึงเป็นแนวทางที่สอดรับกับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน สำหรับผู้สนใจรับบริการหรือร่วมพัฒนาสปาเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรือ ECO SPA สามารถติดต่อได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร โทร 0 76 523 094-7 ต่อ 6000