PKRU EXPERT : ผศ.ฤธรรมรง ปลัดสงคราม นักออกแบบบรรจุภัณฑ์อันดามัน


(PRPKRU) การออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องเบสิกสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเนรมิตออกมาให้สวยงาม ตอบโจทย์ได้ดั่งใจ แต่สำหรับผู้ประกอบการ OTOP / SMEs / หรือวิสาหกิจชุมชน การมี Package ที่สะดุดตาชวนซื้อ ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องใหม่พอสมควร จากสภาพปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ภูเก็ต และส่วนราชการอื่นๆ ส่งทีมอาจารย์/นักวิจัย ลงพื้นชุมชนทำงานออกแบบในลักษณะสร้างสรรค์ เป็นอาวุธลับให้กับผู้ประกอบการชุมชนหลายแห่งใน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลักดันสินค้าซึ่งเดิมทีวางจำหน่ายเฉพาะร้านค้าในชุมชน ออกไปสู่ตลาดการค้า EXPO ระดับประเทศ ช่วยสร้างรายได้และลู่ทางในการดำเนินธุรกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่นอันดามัน

ผศ.ฤธรรมรง ปลัดสงคราม หรือ อาจารย์ “บ่าว” จากสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต คือชื่อของ Product Designer ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้าง Package ที่ทำงานในสไตล์เก็บข้อมูลลงลึกทุกรายละเอียด “คลุกวงใน” ร่วมกับชาวบ้าน เพราะการจะทำให้สินค้าชุมชนอันดามันเฉิดฉายแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันในตลาด ต้องมีเอกลักษณ์ที่ดู “แปลกใหม่” และคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้สอยของลูกค้าหลังจากที่ซื้อสินค้าไปแล้ว

โจทย์ : เมื่อต้องการหิ้วสับปะรดขึ้นเครื่องบิน
ผลิตภัณฑ์ “สับปะรดภูเก็ต Phuket Pinapple Good Agricultural Product of Phuket” ของฝากชื่อดังภูเก็ต ผลิตและจำหน่ายโดย วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสับปะรดภูเก็ต ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง / เมื่อสำนักงานเกษตร จ.ภูเก็ต ต้องการให้สับปะรดลูกโตสีเหลืองทอง อัพเกรดเป็นสินค้าที่สามารถซื้อเป็นของฝากขึ้นรถ ขึ้นเครื่องบิน หยิบถือมอบแก่ญาติมิตรได้อย่างสะดวกและดูมีคุณค่า จึงเกิดเป็น Packaging สับปะรดภูเก็ต ผลงานชิ้นสำคัญของ ผศ.ฤธรรมรง ที่ถูกยกให้เป็นของดีภูเก็ต นำไปใช้ในโอกาสพิเศษระดับจังหวัดมาแล้วมากมาย

อ.บ่าว หยิบกล่องใส่สับปะรดภูเก็ต กล่องกระดาษสีขาว ทรงสูง ท่าทางหยิบถือกระชับมือ เพื่อแจกแจงถึงผลงานชิ้นนี้ รอยยิ้มบวกกับน้ำเสียงที่มั่นใจขณะอธิบายถึงผลงานชิ้นนี้ แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็น ผลงาน Package ชิ้นเอกที่เจ้าตัวมีความภาคภูมิใจ
“ที่มาของผลงาน คือการที่ผมได้รับโจทย์จาก สนง.เกษตรฯ จ.ภูเก็ต ให้มหาวิทยาลัย ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ว่าจะทำอย่างไรให้สับปะรดภูเก็ตขายได้ และเกิดมูลค่าเพิ่ม จึงเกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีจุดเด่น ได้แก่ บรรจุสับปะรดได้ 2 ผล มีน้ำหนักไม่เกิน 3 กก. สามารถหยิบถือได้สะดวก และพกพาเดินทางขึ้นเครื่องบินได้ นอกจากนั้นได้มีการเพิ่มรายละเอียดที่สำคัญลงไปใน Package คือ การใส่ Story ของพื้นที่ปลูก แหล่งผลิต มาตรฐานผลิตภัณฑ์ จุดเด่นของสินค้า และวิธีการปอกสับปะรด อีกทั้งหน้าที่ที่ดีของบรรจุภัณฑ์คือเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพื่อสร้างการจดจำในคุณภาพของสินค้า เราได้เลือกใช้วัสดุเป็นกระดาษลูกฟูกในการห่อหุ้มผลสับปะรด ซึ่งจะช่วยลดปริมาณแก๊สเอทิลีน (ethylene) ส่งผลให้ผลไม้สุกงอมช้าลง ยืดอายุสินค้าเก็บได้ยาวนานขึ้นอีกด้วยครับ”



Products Design เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอันดามัน
ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้มีการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี โดยน้อมนำพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่การปฏิบัติ “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน” ทาง ผศ.ฤธรรมรง ปลัดสงคราม ในอีกบทบาทหน้าที่คือ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยทีมงานจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ใช้โอกาสจากนโยบายดังกล่าว นำทีมงานร่วมขับเคลื่อนออกแบบบรรจุภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 9 ผลงาน ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์กระเป๋าสตรีจากเตยปาหนัน วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมเตยปาหนันบ้านวังหิน ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมอัตลักษณ์ จ.กระบี่ ผสมผสานต้นทุนทางวัฒนธรรมและงานหัตกรรมพื้นถิ่น สร้างสรรค์เป็นกระเป๋าสตรีร่วมสมัย
- ผลิตภัณฑ์ขนมตะโกลา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตะโกลา ม.8 ถ.ซอยโรงพระ ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
- ผลิตภัณฑ์นมแพะข้นหวานและนมแพะกลุ่มมณีรัตน์ฟาร์มแพะ&โฮมสเตย์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
- บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์แหนมเห็ดนางฟ้า วิสาหกิจชุมชนสหฟาร์มเห็ดนางฟ้าบ้านนาแฝก ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
- บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ขนมเต้าส้อตวงรัตน์ ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
- บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์น้ำพริกแพะ วิสาหกิจชุมชนเสน่ห์โพธิ์ฟาร์ม ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
- บรรจุภัณฑ์สับปะรดภูเก็ต วิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
- บรรจุภัณฑ์แก้วภูตาล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มภูตาล ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
- บรรจุภัณฑ์สบู่นมแพะ วิสาหกิจบาร่อกัต ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต


“ผลงานทั้งหมดที่ผมและทีมงานของ PKRU ได้บูรณาการนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีจุดเด่นในด้านอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและสื่อถึงความเป็นอันดามัน ซึ่งสถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับทางพัฒนาชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ ซึ่งในการพัฒนาเราได้อาศัยองค์ความรู้จากอาจารย์ในสาขาวิชาจากบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าไปช่วยพัฒนา ซึ่งนอกจากบรรจุภัณฑ์แล้ว มหาวิทยาลัยได้ช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้า การเก็บรักษา รูปลักษณ์ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ จากการศึกษาและวิเคราะห์ในบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งวัตถุดิบ แหล่งผลิต และต้นทุน โดยมีเป้าหมายในการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การได้รับรองตามมาตรฐาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. ซึ่งจะช่วยผลักดันสินค้าให้สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในงานนิทรรศการ OTOP หรือจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชาวบ้านได้มากขึ้นครับ”

แลกเปลี่ยนวิชากับปราชญ์ท้องถิ่น
หากลองสำรวจผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของ อ.บ่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นลายเซ็นเด่นชัดคือการถ่ายทอดอัตลักษณ์ของท้องถิ่นสอดแทรกอยู่ในการออกแบบ ซึ่งนอกจาก อ.บ่าว ได้ช่วยดีไซน์บรรจุภัณฑ์จากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ผศ.ฤธรรมรง ได้ร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นถ่ายทอดความรู้ตรงถึงชุมชน
“ตัวผมและทีมอาจารย์จากสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ถ่ายทอดตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบและปรับโฉมรูปลักษณ์ของสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากงานให้บริการวิชาการดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ของในท้องถิ่นดูดีและขายได้ ในทางกลับกัน วิถีคิด วิธีทำ และภูมิปัญญาจากชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนปราชญ์ชุมชน ก็เป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่าให้กับตัวผม ช่วยเพิ่มไอเดียและวิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนอัตลักษณ์ให้น่าสนใจมากขึ้น แทนที่จะไปลบภาพอัตลักษณ์ที่มีอยู่เดิม ซึ่งประโยชน์จากการลงพื้นที่ชุมชน สามารถนำกลับมาเป็นโจทย์ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาได้ฝึกฝนการออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ด้วยครับ”
“องค์ความรู้” ในศาสตร์ด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาพึงมีและต้องสะสมเพื่อให้บริการจัดการศึกษาถ่ายทอดแก่ท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน “ผู้เชี่ยวชาญ หรือ Expert” ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน สิ่งที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้สนับสนุนให้บุคลากรที่มีความถนัดและมีทักษะเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น ซึ่ง ผศ.ฤธรรมรง ปลัดสงคราม เป็นคนคุณภาพที่มีผลงานเด่นชัด
เพราะเราต้องรับผิดชอบมากกว่าความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่มีภารกิจที่จะต้องส่งต่อความรู้ที่เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือท้องถิ่นอันดามัน พื้นที่ยุทธศาสตร์ของ PKRU
สำหรับเจ้าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือผู้ประกอบการทั่วไป ที่สนใจร่วมงานกับ ม.ราชภัฏภูเก็ต สามารถติดต่อสอบถาม สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 0 7652 3094-7 ต่อ 4000


