“การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ผลพวงจาก Phuket : City of Gastronomy และงานวิจัยของ PKRU

(PRPKRU Content) หากเราข้ามเรื่องโควิด กลับไปสู่ช่วงเวลาที่ “Phuket : Sea Sun Sand” เกลียวคลื่นสีครามที่พัดพานักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก เข้ามาสัมผัสสีสันออนเดอะบีชระดับเวิลด์คลาสที่นี่ “จังหวัดภูเก็ต” ไต่เพดานความนิยมมากและมากขึ้นทุกปี จนต้องจัดระบบสถิตินับจำนวนนักท่องเที่ยวหลักหลายล้านคน เพื่อประกาศศักดาถึงคุณภาพการท่องเที่ยวของเรา
แต่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวระดับอินเตอร์ เรา (ภูเก็ต) จะสามารถนำเสนอ “ของ” ที่เรามีอยู่ในวิถี/ช่ำชอง/และเป็นรากเหง้าที่ไม่ต้องประดิดประดอย หรือเซทอัพ เพื่อเพิ่มสีสันให้กับประสบการณ์การท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้สู่ระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชนได้อย่างไร การยกระดับ “อาหารท้องถิ่นภูเก็ต” เป็นประเด็นที่ “เทศบาลนครภูเก็ต” มุ่งหวังผลักดันให้ภูเก็ต มีชื่อจารึกโดย ยูเนสโก UNESCO (ชื่อเต็ม : องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งได้มีการเลือกสรรเมืองทั่วโลกให้รับรางวัลเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารโลก ประเด็นของตำรับอาหารคือสิ่งที่ภูเก็ตพร้อม แต่เรื่องของ “วิทยาการ” ที่จำเป็นต้องอธิบายความในรูปแบบของ “งานวิจัยทางวิชาการ” เป็นจิ๊กซอว์ที่ชี้วัดผลลัพธ์ และหน้าที่นั้นตกเป็นของทีมนักวิจัยจาก “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” (คลิกอ่านบทความต้นฉบับ)
แม้จะทราบกันแล้วว่าภารกิจดังกล่าวสำเร็จ เกิดเป็น Phuket : City of Gastronomy แต่นี่ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับทีมงานวิชาการที่ช่วยหยิบเหยาะเครื่องปรุงอยู่นอกครัว แต่ส่งผลให้ตำรับอาหารจากก้นครัวของชาวภูเก็ต ได้แสดงศักยภาพให้นักชิมจากทั่วโลกหลั่งใหลมาลิ้มลอง

อาจารย์ ดร.อดุล นาคะโร และ อาจารย์ ดร.อมรรัตน นาคะโร ตัวแทนทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผู้ซึ่งมีโอกาสทำงานร่วมกับ เทศบาลนครภูเก็ต ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในชุมชนและเมือง ในมิติของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ให้ออกมาในรูปแบบของการรายงานเชิงคุณภาพที่เป็นแบบแผนและได้รับยอมรับโดย UNESCO ผ่านรูปแบบงานวิจัย กระทั่งเมื่อปี 2558 ภูเก็ตถูกรับรองเป็นเมืองอาหารโลกแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน และ 1 ใน 18 เมืองของโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยยังมีส่วนในการต่อยอดคุณค่าผ่านกิจกรรมการสร้างสรรค์เมนูท้องถิ่นสู่ความร่วมสมัย โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากวันแรกที่ UNESCO การันตีจนถึงวันนี้ กระแส Phuket : City of Gastronomy ถูกรังสรรค์ในมิติของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่พบเห็นได้ตั้งแต่ร้านค้า Street Food จนถึงร้านอาหาร Michelin Star ล้วนมีการนำเสนออาหารท้องถิ่นภูเก็ตในรูปแบบ Creative Food จากสารตั้งต้นที่เข้มข้นโดย เทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต



ผ่านมาถึงปี 2564 นักวิจัยทั้งสองคน ได้นั่งอยู่กับเราอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าถึงปัจจัยที่ว่าเหตุใด “ภูเก็ตจึงเป็นเมืองอาหารโลก” ระหว่างช่วงเวลาบนโต๊ะสนทนาของเรากับ อาจารย์ดุล และ อาจารย์มร นักวิจัยและนักสารสนเทศคนเก่งจาก PKRU ผู้อยู่เบื้องหลังในการบอกกล่าว Story เปี่ยมเอกลักษณ์ให้กับอาหารภูเก็ต สิ่งที่เราสัมผัสได้จากคำสัมภาษณ์ของบุคคลที่อยู่หลังม่านความสำเร็จของอาหารภูเก็ต คือ ความภูมิใจและยังคงแปลกใจ ที่เล่มผลงานศึกษาวิจัยในวันนั้นของ PKRU จะสามารถผลักดันให้อาหารภูเก็ตมาได้ไกลและเกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่นอย่างชัดเจน
“เหลือเชื่อค่ะว่าวันหนึ่งชาวต่างชาติจะลงทุนเดินทางมาไกลเพื่อชิมหมูฮ้อง โอ้เอ๋ว หมี่ฮกเกี้ยน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเมนูของคนรุ่นเก่า หาทานได้เพียงศูนย์อาหารพื้นเมือง หรือร้านค้าที่ขายมาตั้งแต่บรรพชน ตอนนี้เมนูเหล่านั้นถูกนำเสนอแบบร่วมสมัย เพิ่มมูลค่า และช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวได้สำเร็จตามความมุ่งหวังของ เทศบาลนครภูเก็ต ที่ใช้รางวัลจาก UNESCO เป็นฟันเฟืองให้อาหารภูเก็ตได้แสดงศักยภาพได้อย่างเหนือความคาดหมายมาก ๆ ค่ะ ต้องขอบคุณเทศบาลนครภูเก็ต และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีส่วนร่วมในโครงการ ตอนนี้เราได้ส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นนักสารสนเทศอันดามัน ที่มีทักษะในการจัดการฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นและออกแบบสื่อดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อวัฒนธรรมสู่คนรุ่นใหม่” ดร.อมรรัตน บอกกับเรา
ทางด้าน ดร.อดุล ได้ตอบคำถามเราเกี่ยวกับปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการปักป้ายชื่อ Phuket : City of Gastronomy พร้อมขมวดข้อมูลอย่างกระชับว่า...ประกอบด้วย “1.เป็นอาหารที่เกิดจากพหุสังคม มีความความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรม / 2.อาหารท้องถิ่นมีความสำคัญในทุกเทศกาลของภูเก็ต แทรกซึมในวิถีชีวิต / 3.อาหารมีอัตลักษณ์เด่นชัด เพราะเป็นสูตรเฉพาะที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น / 4.มีเอกภาพในการส่งเสริมการพัฒนาอาหารระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน”


สำหรับบทบาททางวิชาการของทีมวิจัยที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะกิจในขณะนั้น ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการจัดทำข้อมูลสำหรับการขอขึ้นรับรองเป็นเมืองอาหารโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ตัวแทนทีมนักวิจัยจาก PKRU ได้รับเชิญจาก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมแนะแนวทางจัดทำข้อมูลและงานวิจัยเพื่อเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้การท่องเที่ยงเชิงอาหารสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและเมือง ผลักดันสงขลาสู่เมืองอาหารโลก (Songkhla : City of Gastronomy) เนื่องด้วยโครงสร้างทางวัฒนธรรมของ ภูเก็ต และสงขลา มีความคล้ายคลึงในหลายส่วน โมเดลจากผู้ผลักดันภูเก็ตเมืองอาหารโลก จึงเป็นแนวทางที่จำเป็นต้องถอดบทเรียนหากสงขลาจะเดินตามรอยภูเก็ต
เรื่องราวที่ได้บอกเล่าในครั้งนี้ เราเชื่อว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาททางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่ได้มีส่วนแทรกซึม สนับสนุน การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แม้ว่าภูเก็ตจะได้เป็นเมืองอาหารโลกสมปรารถนา การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบเดิมที่โฟกัสเฉพาะชายหาดและรีสอร์ทได้เกิดขึ้น บทบาทและหน้าที่ของผู้สร้างสรรค์เมืองอาหารโลก ซึ่ง PKRU เป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้น ยังคงไม่สิ้นสุดหน้าที่ เพราะโลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น พันธกิจในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ยังคงเป็นปณิธานที่ยึดถือ และการต่อยอด ส่งเสริมคุณค่า ให้ภูเก็ตเป็นเมืองอาหารโลก ที่เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างวัดผลได้ ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของ PKRU ไม่เปลี่ยนแปลง