ม.ราชภัฏภูเก็ต รายงานผลการวิจัย “รถโพถ้องไฟฟ้า (EV) อบจ.ภูเก็ต” แนะเสริมอัตลักษณ์ถิ่น ผนวกนวัตกรรม

(PRPKRU) รถโพถ้องสีชมพู หรือรถสองแถว โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เหวนรอบเกาะ ให้บริการคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวยาวนานหลายปี เป็นระบบขนส่งทางเลือกราคาประหยัด แต่ทว่า ด้วยสภาพปัญหาด้านงานบริการ ความไม่คุ้มทุนในการบริหารจัดการ และเส้นทางเดินรถที่ไม่ครอบคลุม ผลักดันให้ อบจ.ภูเก็ต จัดทำแผนโครงการเปลี่ยนรถโพถ้อง เป็นรถมินิบัส ขนาด 20 ที่นั่ง ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า (EV) แทนน้ำมันที่ใช้อยู่ขณะนี้ โดยมีแผนจะเริ่มให้บริการ 1 ตุลาคม 2565
เมื่อกล่าวถึงจังหวัดภูเก็ต ระบบการคมนาคมทางบกนับว่าเป็นกลไกสำคัญในการโดยสาร ที่มีความเชื่อมโยงกับการคมนาคมทางน้ำ และทางอากาศ จึงเป็นที่มาให้ อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตสถานการณ์ COVID-19

“PKRU x PPAO” จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อการวางแผนและพัฒนา “กรณีศึกษา การบริหารจัดการรถขนส่งประจำทางของ อบจ.ภูเก็ต” โดยมีการศึกษาวิจัยเพื่อการวางแผนและพัฒนา ในประเด็น วิเคราะห์ด้านการเงินและจุดคุ้มทุน / การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก / รูปแบบระบบเทคโนโลยี / การสร้างความโดดเด่นของรถขนส่งประจำทาง ให้มีความเหมาะสมกับการจราจร วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเสนอต่อ อบจ.ภูเก็ต นำผลการศึกษาวิจัยไปใช้สำหรับการวางแผน กำหนดกลยุทธ์ และพัฒนาโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวตามข้อมูลที่มหาวิทยาลัย โดยทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ได้ศึกษาและรายงานผลในองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถ EV
ไฮไลท์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “รถขนส่งประจำทาง” ต่อ อบจ.ภูเก็ต ประกอบด้วย
- ให้ข้อเสนอแนะในการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ ดำเนินโครงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้รถ EV หรือแนวทางร่วมทุนกับภาคเอกชน
-วิเคราะห์ผลการดำเนินงานทางการเงินและผลตอบแทนทางสังคม (Social return on investment: SROI) ของการบริหารจัดการรถขนส่งประจำทางของ อบจ.ภูเก็ต


-ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการให้บริการรถขนส่งประจำทางของ อบจ.ภูเก็ต ตามเส้นทางการเดินรถที่ดำเนินการในปัจจุบัน


-ออกแบบรูปลักษณ์ของรถ EV ภูเก็ต โดยการประเมินอัตลักษณ์ที่ได้จากการเชื่อมโยงการรับรู้เกี่ยวกับ จังหวัดภูเก็ต ทางสื่อดิจิทัล และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกิดเป็นข้อเสนอแนะในการคงรูปลักษณ์รถโพถ้อง ด้วยวิธีการดัดแปลงหรือตกแต่งลวดลายสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส และเลือกใช้ 2 โทนสี คือ โทนสีน้ำทะเลลึก (Phuket Sea Beach) และโทนสีวัฒนธรรมภูเก็ต (Phuket Culture) สีน้ำตาลแดง ครีม ทอง สื่อถึงอารยธรรมเมืองเก่า-วัฒนธรรมเชิงจีน


-จัดทำรูปแบบ “ป้ายรถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ (Bus Stop Digital Signage)” เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงรายละเอียดของเส้นทางเดินรถ ระยะเวลาการรอคอยรถ ความหนาแน่นของเส้นทางจราจร รวมถึงสามารถสอดแทรก Content แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนแก่ผู้โดยสาร

ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในครั้งนี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายหลักคือ "พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยว" ผ่านมุมมองของนักวิจัย ซึ่งใช้วิธีศึกษาถึงแก่นแท้ของการแก้ปัญหา ใช้หลักวิชาการชี้นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์ความรู้ในการต่อยอดสู่การพัฒนาและแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมตามปณิธาน "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"